อาคารเสนาสนะและโบราณวัตถุ ของ วัดตลิ่งชัน (กรุงเทพมหานคร)

พระประธานปางมารวิชัย

อุโบสถเป็นคนดั้งเดิม มีการบูรณะหลายครั้ง เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 3 ครั้งพระครูทิวากรคุณ (กลีบ พุทฺธรกฺขิโต) เป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2460 และบูรณะครั้งใหญ่สมัยพระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ (ศิริชัย สิริจนฺโท) ระหว่าง พ.ศ. 2519–2532 เช่นการประดับเครื่องลายครามและเครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่หน้าบัน ภายในอุโบสถระหว่างหน้าต่างมีภาพประดับมุก เรื่องมโหสถชาดก (สร้าง พ.ศ. 2532) บานหน้าต่างประดับมุก เรื่องราวทศชาติชาดก เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตราประจำจังหวัด และพัดยศพระราชาคณะ สร้างในสมัยพระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณเป็นเจ้าอาวาส มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเหนือหน้าต่าง เป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิบนฐานบัวบนพื้นสีดำ คั่นด้วยช่อดอกไม้ร่วง เรียงกันขึ้นไป 5 ชั้น[2]

บนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องหลายองค์ พระประธานเป็นพระหินทรายแดง ปางมารวิชัย ปั้นรักพอกเป็นพระทรงเครื่องอย่างใหญ่ มีสังวาลกากบาทไขว้กันที่พระอุระและสวมชฎา มีพระพุทธรูปยืน 2 องค์ ขนาบข้างพระประธาน เป็นพระพุธรูปทรงเครื่องน้อยที่มีทับทรวง สวมกระบังหน้า และรัดเกล้า แบบอยุธยาตอนต้นหรืออยุธยาตอนกลาง

รอบอุโบสถมีเสมาเป็นแถวบนกำแพงแก้ว ส่วนเสมาหน้าอุโบสถเป็นเสมาหินทรายสีแดง ลักษณะเพรียวสูง อกเสมาเป็นรูปดอกไม้ 4 กลีบ ทางวัดได้เสมานี้มาจากวัดสักใหญ่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

วัดมีศาลาอดีตเจ้าอาวาส ศาลาการเปรียญ มณฑปพระพุทธบาท ฌาปนสถาน ศาลาบำเพ็ญกุศล และโรงเรียนพระปริยัติธรรม มีอาคารเรียนของโรงเรียนพระปริยัติธรรมเดิม เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ทาสีฟ้า เคยใช้เป็นอาคารของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน